วันศุกร์, พฤศจิกายน ๒๑, ๒๕๕๑

ยะถา วาริวะหา...

ยะถา วาริวะหา

ยะถา วาริวะหา ปูรา
ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง
เปตานัง อุปะกัปปะติ

อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา
จันโท ปัณณะระโส ยะถา

มะณิ โชติระโส ยะถา ฯ

...

ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ
[๘] [ถ้าว่าปราชญ์พึงหาความสุขอันไพบูลย์เพราะสละความสุขพอ ประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึง สละความสุขพอประมาณเสีย] เปรตทั้งหลายมาสู่เรือน ของตน ยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ทาง ๔ แพร่ง ทาง ๓ แพร่ง และใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของบริโภคเป็นอันมาก อันญาติทั้งหลายตั้งไว้แล้ว ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของ สัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์ ชน เหล่านั้นย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาดประณีตอันเป็นของ ควรโดยกาล ด้วยอุทิศเจตนาอย่างนี้ว่า ขอทานนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด และญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้น มาประชุมพร้อมกัน แล้วในที่นั้น เมื่อมีข้าวและน้ำเป็นอันมาก ย่อมอนุโมทนา โดยเคารพว่า เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุ แห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงเป็นอยู่ นานเถิด บูชาอันทายกทั้งหลายทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และ ทายกทั้งหลายก็หาไร้ผลไม่ ในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่ มีโครักขกรรม ไม่มีพาณิชยกรรมเช่นนั้น ไม่มีการซื้อการ ขาย [การแลกเปลี่ยน] ด้วยเงิน ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อม ยังอัตภาพให้เป็นไปในเปรตวิสัยนั้น ด้วยทานทั้งหลายที่ญาติ ให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ น้ำฝนตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วแต่มนุษย์ในโลกนี้ย่อม สำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อม ยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้ว แต่มนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน กัน บุคคลมาระลึกถึงอุปการะอันท่านได้ทำแล้วในกาลก่อนว่า ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจนี้ของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็น มิตร เป็นเพื่อนของเรา ดังนี้ ก็ควรให้ทักษิณาทาน เพื่อผู้ ที่ละโลกนี้ไปแล้ว การร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความ ร่ำไรรำพันอย่างอื่นก็ดี บุคคลไม่ควรทำเลย เพราะว่าการ ร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ละไป แล้ว ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้น ก็ทักษิณาทานนี้แล อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จ โดยพลัน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้น ตลอดกาล นาน ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว บูชาอัน ยิ่งท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว และท่าน ทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญไม่ใช่น้อย ท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้แล ฯ
จบติโรกุฑฑกัณฑ์

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=155&Z=194

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน ๑๖, ๒๕๕๑

วันนี้ไปฟังธรรมที่ศาลาลุงชิน ครั้งแรก...

วันนี้ผมตื่นเช้ามากที่สุดในรอบปีเลยก็ว่าได้
เพราะมีนัดพิเศษ กับกิจกรรมที่นานๆ ผมจะได้ทำซักครั้ง

ผมจะไปฟังธรรมครับ...

ตื่นแต่ตีห้า ออกจากบ้านหกโมงครึ่ง เรียกแท็กซี่ไปรับแฟน
เพื่อไปยังศาลาลุงชิน อยู่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ปากซอยเป็น Big-C แจ้งวัฒนะครับ

แผนที่จาก Google Maps

ถ้ายังไม่รู้จักศาลาลุงชินลองอ่านประวัติของที่นี่ได้
ประวัติศาลาลุงชิน

ปกติผมไม่เคยไปหรอกครับ แต่ตัดสินใจไปครั้งแรกเพราะวันนี้
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านจะมาแสดงธรรมที่นี่
และโดยปกติ ท่านจะมาแค่เดือนละครั้งเท่านั้น ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สามของเดือน
โดยท่านสามารถเช็คตารางได้ที่นี่

เรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไป ขอละไว้ก็แล้วกันนะครับ ท่าจะยาว
วันนี้ขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปที่นี่ครั้งแรกก่อนก็พอ

ไปถึงประมาณ 7 โมงนิดๆ แต่คนเยอะมากแล้วครับ
รถจอดยาวออกมาเป็นร้อยเมตร ตามซอยย่อยๆ มีแต่รถจอดครับ

ตัวศาลาใหญ่ประมาณโรงเล่นบาสเกตบอล
ด้านข้างเป็นลานจอดรถ และมีสวนหย่อมของหมู่บ้านครับ
มีห้องน้ำสะอาดเป็นระเบียบดี และแน่นอน ห้องน้ำหญิงมากกว่าชายเยอะครับ... :P

ไปถึงมีอาหารว่างอาหารเช้าเบาๆ ให้เลือกกินเพียบครับ
ผมไม่รู้เลยเตรียมขนมปังไปกินเอง ซึ่งผมก็ว่าดีแล้ว
แต่ถ้าใครรีบไปแต่เช้า ก็ไม่ต้องกลัวอดครับ เพียบจริงๆ

ข้างๆ ศาลา มีหนังสือธรรมะและ CD แจกฟรีให้เลือกหยิบได้ตามชอบครับ
รวมถึงกล่องรับบริจาคเพื่อการต่างๆ ซึ่งจะเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน เรียงไปตามแถว

ผมเข้าไปนั่งด้านในศาลาตั้งแต่ประมาณเจ็ดโมงครึ่ง คนเยอะแล้วครับ

ภาพนี้ผมนั่งกลางๆ ค่อนไปทางหลังนะครับ มีข้างหลังอีกเพียบ
เก้าอี้เสริมข้างๆ กับข้างหลังอีกหลายแถว...

นั่งรออย่างนั้นจนถึง 8:30 ครับ หลวงพ่อถึงได้เดินออกมา

แต่เวลาที่ท่านสอนจะห้ามถ่ายภาพครับ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อื่น
แถมตอนท่านสอนเสร็จ ผมก็ถ่ายภาพท่านไม่ทันจริงๆ เสียดายมากครับ

ท่านจะใช้เวลาสอนประมาณครึ่งชั่วโมงหน่อยๆ
แล้วหลังจากนั้น ท่านก็จะสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติต่อครับ
โดยจะใช้การเขียนชื่อ แล้วจะมีตัวแทนจับฉลากออกมาราว 15-20 ท่านต่อครั้งครับ
ซึ่งจุดนี้ใครที่เคยได้โหลดไฟล์เสียงของท่านมาฟัง จะเข้าใจครับ
ใครอยากจะให้ท่านสอบอารมณ์ต้องไปเช้าหน่อยนะครับ เพื่อลงชื่อ

โดยรวมก็เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง จบประมาณ 10 โมง

ผู้คนก็แยกย้ายครับ บ้างก็ลุกไปบริจาค บ้างก็ไปหยิบหนังสือต่อ

ด้านนอก ก็มีแจกอาหาร น้ำดื่ม ข้าวต้ม กันต่อครับ ให้กินปิดท้ายก่อนจาก...

ข่าวฝาก: ตั้งแต่ ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป
หลวงพ่อจะเลื่อนเวลาสอนเป็นเวลา 9:00 ครับ

...

เป็นวันที่ผมอิ่มจริงๆครับ
ไม่ใช่ว่าปลื้มใจ หรือดีใจ หรืออิ่มบุญ ไม่ใช่ทั้งนั้น

แต่สิ่งที่หลวงพ่อสอน ตีแสกหน้า ตรงใจ
และตอบคำถามผมหลายประเด็นมากๆครับ
เหมือนได้คำตอบโดยไม่ต้องถาม ทำนองนั้น

...

ท่านใดที่สนใจแนวการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์
ที่ไม่เยิ่นเย้อ ใช้คำร่วมสมัย ฟังง่ายๆ
ลองโหลดไฟล์เสียงและหนังสือได้จากที่นี่ครับ

http://wimutti.net/pramote/

http://www.fungdham.com/sound/pramote.html

แนะนำให้ฟังครับ...

วันจันทร์, มิถุนายน ๒๓, ๒๕๕๑

สิ่งที่พระสงฆ์ต้องการจริงๆ...

ดูรายการจุดเปลี่ยน เรื่องเกี่ยวกับถังสังฆทาน

เขาจับแกะถังสังฆทานที่วางขายทั่วไป
พบว่าเกินกว่าครึ่ง ล้วนไม่ได้มาตรฐาน

ผ้าขนหนูก็รุ่ยๆ ผ้าสบงก็บางจ๋อย ชาก็เหม็น
ธูปก็สั้นๆ จุดยาก ไฟฉายก็พังง่าย

รวมถึงทำแบบสอบถามไปยังพระสงฆ์ว่า
จริงๆ แล้ว พระสงฆ์ต้องการสิ่งใดกันแน่

  • ยาสระผม ใช้เวลาปลงผม
  • อุปกรณ์ทำความสะอาด ไม้กวาด ไม่ถูพื้น
    ผงซักฟอก น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
  • ผ้าขนหนูสีสุภาพ เนื้อดี
  • ยารักษาโรคพื้นฐาน
  • หนังสือ นิตยสาร
  • ผ้าไตรจีวรที่มีคุณภาพ
  • ใบมีดโกนสองด้าน ยิลเลต ยี่ห้อขนนก (แก้ไขโดย http://akkarakitt.exteen.com/)
  • เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน สมุด ปากกา กระดาษ

เหล่านี้คือสิ่งที่พระต้องใช้ แต่กลับไม่ค่อยมีผู้ถวาย
ในถังสังฆทานก็ไม่ค่อยจะจัดไว้ หรือมีก็ไร้คุณภาพ

ขอแทรกความเห็นส่วนตัว ที่สำคัญมากอีกอย่างคือ
สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟันดีๆ เพราะพระก็ต้องรักษาความสะอาดเหมือนกัน
ควรจัดหาแบบที่เราใช้นั่นแหละ ไปถวายพระสงฆ์

...

ผมเห็นด้วยว่า เราควรจะคิดให้มากกว่านี้เวลาจะทำบุญ

คิดถึงหลักความจริงว่า ในชีวิตประจำวันเราใช้อะไรบ้าง

เพราะพระไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่ไหน ก็ยังคงเป็นมนุษย์เหมือนเราๆท่านๆนี่แหละ
ยังคงต้องใช้สิ่งของอำนวยความสะดวก เหมือนที่เราต้องใช้นั่นเอง

เพียงแต่เราก็ดูให้เหมาะสมกับวินัยของพระสงฆ์ก็พอครับ

ชวนให้อ่าน

วินัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่ประชาชนควรทราบ...(1)

วินัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่ประชาชนควรทราบ... (2)

ผู้ทำบุญมีอยู่เกลื่อนกลาด แต่ผู้ทำบุญด้วยความฉลาด หายากขึ้นทุกวัน...

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก},,,,,,

วันอังคาร, พฤษภาคม ๑๓, ๒๕๕๑

สิ่งที่ได้จากเรื่อง ไซอิ๋ว... [Dharma]

หลังจากดูละครเรื่องไซอิ๋วมานาน
วันนี้เพิ่งจะกระจ่าง ว่านัยที่ซ่อนอยู่ของไซอิ๋ว คืออะไร

บอกก่อนว่า ผมเคยอ่านเจอบทวิเคราะห์แนวนี้มาก่อนแล้วจาก pantip
แต่ด้วยความที่ว่ามันหลายปีมาแล้ว หาไม่เจอ จนผมลืมไปแล้ว

พยายามนึกเท่าไหร่ ก็นึกไม่ออก จนวันนี้ดูแล้วถึงได้เข้าใจ..

การเดินทางไปเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซำจั๋ง ยังชมพูทวีปนั้น
เปรียบเทียบเหมือนการศึกษาธรรมะ เพื่อไปยังจุดสูงสุด

ซึ่งจุดสูงสุดของพุทธ นั่นคือการบรรลุอรหัตผล
ซึ่งในหนัง เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าคือการไปถึงวัดหลุยอินซื่อ

พระถังซำจั๋ง คือตัวแทนของผู้ศึกษาธรรม
ซึ่งการเดินทางไปนั้น โดยนัยคือการเดินทางของจิตใจ

ซึ่งจิตใจนั้นจะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแต่แรกก็เป็นไปไม่ได้
เพราะทุกคนมีกิเลส นั่นคือ ราคะ โทสะ โมหะ ติดตัวอยู่

ซึ่งละครนั้น ก็เปรียบเทียบกิเลสนั้น เป็นลูกศิษย์ทั้งสามของพระถังซำจั๋ง
ซึ่งจะติดตามไปทุกที่เหมือนเงาติดตามดัว

โป๊ยก่าย คือ - ราคะ (ความหลงไหล ความยึดติด)
หงอคง คือ โทสะ (ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ)
ซัวเจ๋ง คือ โมหะ (ความโง่ ความไม่รู้ ความหลง)

ซึ่งตรงกับลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างน่านับถือคนแต่งเรื่อง

และถึงหงอคงจะมีฤทธิ์เดชมากแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถเหาะไปวัดหลุยอินซื่อได้
ต้องเดินไปพร้อมกับพระถังซำจั๋งทีละก้าวๆ จนกว่าจะถึง

หรือโดยนัย ก็คือไม่มีทางลัดในการปฏิบัติธรรม
ถึงโทสะของเราจะใจร้อนอยากบินไปให้ถึง อยากบรรลุ
แต่การจะไปถึงจริงๆ นั้น ทำได้ทางเดียว คือการปฏิบัติสติปัฎฐาน 4 เท่านั้น

จะข้ามขั้น หรือหาใครมาพาไปไม่ได้
ต้องเดินด้วยตัวเองทีละขั้น ทีละก้าวเท่านั้น...

ในละครวันนี้ สามพี่น้อง เพิ่งจะคิดได้ว่า ถ้าหากบรรลุอรหันต์
เขาก็จะไมได้ในสิ่งที่เขาหวังก่อนเดินทาง

หงอคง ก็จะไม่ได้เป็นเทพต่อยตีกับใครอีก
โป๊ยก่าย ก็จะไม่ได้สมรักกับฉางเอ๋อที่ครองรักกันมาพันชาติ
ซัวเจ๋ง ก็จะไม่ได้รับความฉลาดหรือปัญญาที่หวังเอาไว้

จนถึงกับอยากจะถอดใจเลิกเดินทาง ไม่อยากบรรลุธรรม

ซึ่งก็เหมือนกับจิตใจของเราเหล่าปุถุชนทั้งหลาย
ผุ้กำลังเดินทาง ผู้กำลังศึกษา

กว่าจะถึงนั้น ต้องต่อสู้กับกิเลสมากมายในจิตใจ
คิดไปนั่น คิดไปนี่ จนสุดท้ายกลัวว่าจะต้องสูญเสียทุกอย่าง
จนต้องพ่ายแพ้แก่กิเลส และสุดท้ายก็ไม่อาจจะไปถึงได้

หากแต่ความจริงแล้ว การบรรลุธรรม หรือการสำเร็จอรหัตผลนั้น เราไม่ได้สูญเสียอะไร

เพราะความจริงเราไม่มีอะไรมาแต่ต้น
แต่เราเที่ยวไปยืด ไปถือ ไปหลงผิด เอานั่นเอานี่มาเป็นของตนมาตลอด

เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อไปเอาอะไร
แต่เราปฏิบัติเพื่อไม่เอาอะไรต่างหาก

และสิ่งแรกที่ต้องทิ้ง ก็คือ มิจฉาทิฐิ

คือการหลงคิดไปว่า นั่นตัวเรา นั่นของเรา

เพราะจริงๆ ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา มีแต่สิ่งที่จิตเราไปยืดมั่นถือมั่น

จนแม้แต่สุดท้าย จิต ก็ไม่ใช่ของเรา
มีแต่สละทิ้ง มีแต่สำรอกออกซึ่งกิเลส

ดังนั้น อรหัตผลนั้น ละเอียดและลึกซึ้งเกินกว่าพวกเราจะมานึกๆ คิดๆ เอาได้

แต่แค่เรารู้ว่ากายใจไม่ใช่เรา ด้วยการปฏิบัติจริงๆแล้ว
นั่นก็เรียกว่าเป็นโสดาปัติผล ปิดอบายได้สนิท

เพราะโสดาบัน แปลว่าผู้เกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ
จะไม่ลงต่ำกว่าภูมิมนุษย์อีก ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก หรือเดรัจฉานอีก
*

(* ความหมายจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์)

แล้วเหตุใดเราจะไม่เร่งทำในขณะที่ยังมีโอกาสล่ะ...

ไม่มีอะไรต้องเสียแม้แต่นิดเดียว...

วันเสาร์, มีนาคม ๒๒, ๒๕๕๑

ความสวย ไม่เท่ากับ ความสุข...

เห็นข่าวคนสวยฆ่าตัวตายวันนี้...

สาวไฮโซอาจารย์เอแบคประชดรักดิ่ง10ชั้นดับ

“อาจารย์สาวไฮโซ” ม.ดังเครียดเรื่องรักโดดตึกชั้น 10 ดับ!!

อจ.สาวม.เอแบค ดิ่งตึกดับ แฟนติดดาราดัง [22 มี.ค. 51 - 03:29]

.

น่าเสียดายคนสวยระดับดาวมหาวิทยาลัย
ต้องมาคิดสั้นเพราะความไม่รู้เท่าทันใจตัวเอง...

หากคนเราให้เวลาศึกษาจิตใจตัวเองเสียแต่ยังเยาว์

เราก็อาจจะไม่ต้องเสียทรัพยากรมนุษย์ไปเพราะเหตุไร้สาระเช่นนี้...

.

หาอะไรยึดไว้เถิด อะไรก็ได้ที่จะแน่ใจว่าจะไม่ทำร้ายเรา

ไม่จำเป็นต้องเป็นศาสนาก็ได้
จะเป็นพ่อแม่ หรือแม้แต่ต้นไม้ซักต้น ก็ยังดีกว่าไม่มี

เพราะการเป็นคนที่เคว้งคว้างไร้สมอยึดใจ

นั่นต่างหากที่อันตรายอย่างแท้จริง...

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก},,,,

วันศุกร์, มีนาคม ๑๔, ๒๕๕๑

เพราะฉันไม่คิด ฉันจึงไม่มีอยู่...

ก่อนที่ René Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
จะเกิดออกมาคิดประโยคอมตะว่า Cogito, ergo sum...

กว่า 2100 ปีก่อนหน้านั้น มีชายผู้หนึ่งได้ประกาศความคิดนี้ไปแล้ว
คือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือ Gautama Buddha

ทรงประกาศแนวคิดอันชัดเจนแจ้มแจ้ง และง่ายดายดังหงายของที่คว่ำ
เอาไว้ว่า "เพราะมีอวิชชา เราจึงมีอยู่"

อวิชชา แปลตรงๆได้ว่า ความไม่รู้

ควรอธิบายด้วย ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท
หมายถึง สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น,
การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้

๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา - เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณี - เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ - เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ - เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส - เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา - เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
๗. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา - เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ - เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว - เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ - เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ - เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาสมฺภวนฺติ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส จึงมีพร้อม

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก

via 007772 - ภาพศิลป์ ชุด "ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เหตุแห่งทุกข์"

.

ถ้าปฏิจจสมุปบาท ซับซ้อนเกินไปสำหรับคุณ
แน่นอนครับ มันยากเกินไปสำหรับผมด้วย

ก็บอกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เพราะเราไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิต เราถึงต้องเกิดมา
ตราบใดที่เรายังไม่รู้ เราก็ยังคงต้องเกิดแล้วเกิดอีกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้
นั่นคือการรู้แจ้ง หรือนิพพาน อันเป็นการหลุดพ้น

แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้เกิดเป็นคนทุกชาติไปหรอก
ดังนั้นจงอย่าประมาทในการใช้ชีวิต

.

การปฏิบัติธรรมนั้น คือการเฝ้ารู้ ไม่ใช่เฝ้าคิด

จงรู้สิ่งที่เกิดอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา
ไม่ต้องไปคิดหาคำนิยามใดๆ ให้กับมัน

แม้แต่การสงสัย ก็ต้องรู้ว่าเรากำลังสงสัย
และอยู่แต่เพียงปัจจุบัน ไม่ไปติดกับความสงสัยที่ผ่านไปแล้ว

เมื่อใดที่เราปราศจากคำว่าสงสัย นั่นแลเราจักเรียกว่าเกิดภาวะตื่น ภาวะรู้

และเมื่อใดภาวะตื่นรู้นั้นเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่ใช่เกิดอย่างแข็งทื่อ หรือคงที่อย่างฝืนธรรมชาติ

เมื่อนั้นจิตจะเริ่มปล่อยวางสิ่งต่างๆ
เพราะทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น และดับไปทั้งสิ้น

บัดนั้น ทุกข์จะกลายเป็นของไร้สาระแก่ใจเราไปในทันที
เพราะทุกข์เกิดขึ้น แต่ใจเราไม่เอา ไม่ยึดมันไว้แม้เสี้ยววินาที...

.

I think, therefore I am. ก็คือเศษเสี้ยวของปฏิจจสมุปบาท เราดีๆ นี่เอง

ปล.ขอแนะนำ http://www.fungdham.com/sound/pramote.html

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ ๒๑, ๒๕๕๑

โอวาทปาฏิโมกข์ [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]...

ขอยกโอวาทปาฏิโมกข์ มาให้อ่านกัน
เนื่องในวันมาฆบูชา

.

โอวาทปาฏิโมกข์ [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่
พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป
ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม
ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา
(อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้
แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา
ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),

คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํ     กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ     เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต     ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ     ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค     เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

แปล :
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑
การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
ความเพียรในอธิจิต ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ
ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

http://www.84000.org/tipitaka/dic/

มาฆบูชา via Wikipedia

.

สมัยก่อนนั้น การจะแสดงปาติโมกข์
ต้องอยู่ในชุมนุมสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ และไม่ปะปนด้วยคฤหัสถ์เด็ดขาด

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=5360&Z=5403&pagebreak=0

ก็คงจะหาอะไรแบบนั้นยากแล้วในสมัยนี้
คงเหลือเป็นการสวดเพื่อทบทวนพระวินัยเท่านั้น

และก็ไม่แปลก ถ้าเราจะไม่เคยได้ฟัง
เพราะมีพระวินัยบัญญัติไว้ ว่าถ้าแสดงให้คฤหัสถ์ฟัง ก็อาบัติไปเสียอีก

ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
[๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเทวทัตต์สวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย.
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย
รูปใดสวด ต้อง อาบัติทุกกฏ.

ต้องได้รับอาราธนาจึงสวดปาติโมกข์ได้
[๑๗๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนาสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุ ทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา
ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ.

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=4582

.

ส่วนที่ว่า ทำไมจึงสวดปาติโมกข์กันเดือนละ 2 ครั้ง
ก็มีที่มาครับ ดังเรื่องต่อไปนี้...

สวดปาติโมกข์ในวันอุโบสถ
[๑๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายทราบว่า
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์แล้ว จึงสวดปาติโมกข์ทุกวัน.
ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ทุกวัน รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ในวันอุโบสถ.

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ในวัน อุโบสถแล้ว
จึงสวดปาติโมกข์ปักษ์ละ ๓ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ
ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ปักษ์ละ ๓ ครั้ง
รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.             

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ ปักษ์ละ ๑ ครั้ง
คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ หรือ วัน ๑๕ ค่ำ

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=4163

.

เขียนนานมาก แต่ไม่รู้เรื่อง
ตกลงแล้วคุณอ่านแล้วได้อะไรครับ

ผมอ่านเองก็งงเอง

เอาว่าไปอ่านเรื่องนี้ต่อครับ สนุกกว่าของผมเยอะเลย
มาฆบูชา CODE

แท็กของ Technorati: {กลุ่มแท็ก},,,

วันอาทิตย์, มกราคม ๒๐, ๒๕๕๑

ดูรู้...หนึ่งพรรษา... [book]

วันนี้ขอแนะนำหนังสือที่เพิ่งจะอ่านจบไปครับ...

ชื่อหนังสือคือ ดูรู้...หนึ่งพรรษา
เขียนโดย พระศุภิจ สุภกิจโจ

หลังจากเริ่มอ่าน ผมถึงได้รู้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นโลกคู่ขนาน
ของหนังสือที่ผมเคยแนะนำมาก่อนแล้วชื่อ ดูจิต...หนึ่งพรรษา
โดย พระปัญญาวโรภิกขุ

ดูจิต หนึ่งพรรษา... [book]

.

ที่ผมว่าเป็นโลกคู่ขนาน เพราะเป็นการเขียนถึงช่วงเวลาเดียวกัน
ในการบวชที่เดียวกันของพระสองรูป

เป็นบันทึกคำสอนของพระอาจารย์
บันทึกการปฏิบัติ และสิ่งที่ได้รับ รวมถึงการแก้ปัญหาที่เกิด

นับว่าเนื้อหาเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจการปฏิบัติมากครับ

ถ้าผมเรียกเล่ม ดูจิต...หนึ่งพรรษา ว่าสำหรับขั้นกลาง
หนังสือ ดูรู้...หนึ่งพรรษา เล่มนี้ ก็คงเหมาะกับชั้นเริ่มต้นครับ

เพราะเนื้อหาจะอ่านเข้าใจง่ายกว่าค่อนข้างมาก
เน้นสอดแทรกรายละเอียดที่ผู้เริ่มเดินทางมักจะสงสัย

แต่ชั้นเริ่มต้นที่ผมว่า คือผู้เริ่มต้นปฏิบัติอย่างถูกทางนะครับ

สำหรับผู้ยังไม่มีพื้นฐานหลักการของสมถะวิปัสนาเลย
ก็ยังคงไม่ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ดี

นับเป็นหนังสือสองเล่มคู่ที่น่าอ่านน่าเก็บ
และน่าซื้อหาแจกเป็นธรรมทานครับ...